หน้าแรก ประวัติชมรม สมาชิกชมรม ข้อมูลข่าวสาร ข้อมูลความปลอดภัย กิจกรรมชมรมช.อ.ป. เว็บบอร์ด ตำแหน่งงานว่าง ติดต่อเรา
ชมรมอุตสาหกรรมบางปู Bangpoo Industrial Society ปัจจุบัน มีบริษัทเข้าร่วมเป็นสมาชิก รวม 147 บริษัท
 

ระเบียบข้อบังคับของชมรมอุตสาหกรรมบางปู

ฉบับแก้ไข พ.ศ.2555


หมวดที่ 1 ข้อความทั่วไป

          ข้อ 1. ชมรมนี้ชื่อชมรมอุตสาหกรรมบางปูใช้อักษรย่อว่า ช.อ.ป. มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า BANGPOO  INDUSTRIAL  SOCIETY  ใช้อักษรย่อว่า B.I.S.
          ข้อ 2. สถานที่ตั้งชมรมฯ ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางปู หรือภายในเขตจังหวัดสมุทรปราการ
          ข้อ 3. เครื่องหมายของชมรมดังที่ปรากฏอยู่ประกอบด้วย รูปลักษณะนกนางนวลกางปีกอยู่บนเฟื่องจักรใหญ่และเล็กมีคำว่า ช.อ.ป. อยู่ใต้รูปนกมีชื่อชมรมอุตสาหกรรมบางปู ภาษาไทยและชื่อภาษาอังกฤษ BANG POO  INDUSTRIAL  SOCIETY  อยู่ข้างล่าง

หมวดที่ 2 วัตถุประสงค์

          ข้อ 4.  ชมรมมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
                    4.1  เป็นแหล่งรวมของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในเขตนิคมอุตสาหกรรมบางปู  หรือในเขตใกล้เคียง
                    4.2  เป็นแหล่งกลางสำหรับสมาชิกจะได้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่างๆ อันจักเป็นประโยชน์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมและการจัดการ
                    4.3  ให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆระหว่างสมาชิกด้วยกัน
                    4.4  เพื่อสร้างและส่งเสริมมิตรภาพในหมู่สมาชิกด้วยกัน
                    4.5  รักษาและปกป้องผลประโยชน์ของสมาชิกด้วยกัน
                    4.6  เสริมสร้างความสามัคคีและความเป็นปึกแผ่นของสมาชิกทั้งปวง
                    4.7  ชมรมนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง

หมวดที่ 3 ประเภทสมาชิกและสมาชิกภาพ

          ข้อ 5.  สมาชิกของชมรมแบ่งออกเป็น  4  ประเภท  คือ
                    5.1  สมาชิกสามัญ
                    5.2  สมาชิกสมทบ
                    5.3  สมาชิกวิสามัญ  
                    5.4  สมาชิกกิตติมศักดิ์
           ข้อ 6. สมาชิกสามัญ  หมายถึง  นิติบุคคลที่ประกอบกิจการทุกประเภทภายในนิคมอุตสาหกรรมบางปู  ซึ่งแสดงความจำนงสมัครเข้าเป็นสมาชิกสามัญ  โดยกำหนดให้มีผู้แทนของนิติบุคคลได้ไม่เกิน  2  ท่าน  เป็นลายลักษณ์อักษรในใบสมัคร
           ข้อ 7. สมาชิกสมทบ  หมายถึง  นิติบุคคลที่ประกอบกิจการทุกประเภทภายนอกนิคมอุตสาหกรรมบางปู  ซึ่งได้แสดงความจำนงสมัครเข้าเป็นสมาชิกสมทบสามัญ  และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการชมรมฯ  มีมติให้รับเข้าเป็นสมาชิกสมทบสามัญ  โดยกำหนดให้มีผู้แทนของนิติบุคคลได้ไม่เกิน  2 ท่าน  เช่นเดียวกันกับสมาชิกสามัญ
           ข้อ 8. สมาชิกวิสามัญ  หมายถึง  บุคคลที่ทำงานด้านจัดการและการบริหารเกี่ยวกับการอุตสาหกรรมหรือกิจกรรมที่คณะกรรมการชมรมฯ เห็นสมควรให้เข้าร่วมกับชมรมฯ ได้ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่มาจากบริษัท  ห้างร้าน  โรงงงาน     นิติบุคคล  ฯลฯ  ก็ได้  ที่มีความประสงค์จะเข้าร่วมกับชมรมฯ  โดยแสดงความจำนงสมัครเข้าเป็นสมาชิกชมรมฯ  และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการชมรมฯ
            ข้อ 9. สมาชิกกิตติมศักดิ์  หมายถึง  บุคคลที่ทรงเกียรติคุณ  หรือมีความสามารถรอบรู้ในกิจการอุตสาหกรรมซึ่งคณะกรรมการชมรมฯ  เห็นสมควรที่จะเชิญมาเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์
            ข้อ 10. บุคคลหรือนิติบุคคลใด  ที่มีความประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกประเภทใด  ให้ยื่น
ใบสมัครตามแบบกำหนดของชมรมฯ  และให้คณะกรรมการลงมติการรับเข้าเป็นสมาชิกเป็นเอกฉันท์
             ข้อ 11.  ให้คณะกรรมการชมรมฯ  รายงานการเข้าของสมาชิกใหม่ทุกประเภทต่อที่ประชุมทุกครั้งที่ได้ทำการรับสมัครสมาชิกเข้าในชมรมฯ
             ข้อ 12.  สมาชิกภาพของสมาชิกย่อมสิ้นสุดลงเมื่อ                                                                                             
                    12.1 ลาออก
                    12.2 ตายหรือเป็นบุคคลล้มละลายหรือเลิกกิจการ
                    12.3 ไม่ชำระเงินค่าบำรุงตามระเบียบที่กำหนดไว้ติดต่อกัน  2  ปี โดยที่ได้รับหนังสือเตือน การชำระเงินแล้วไม่น้อยกว่า  2  ครั้ง
                    12.4 เป็นผู้ไร้ความสามารถ  หรือเสมือนไร้ความสามารถ  หรือเป็นบุคคลวิกลจริต
                    12.5 เป็นผู้ไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของชมรมฯ อันอาจนำความเสื่อมเสียมาสู่ชมรมฯ ได้  โดยให้มติ  2  ใน  3  ของคณะกรรมการมีอำนาจลงชื่อคัดออกจากการเป็นสมาชิก                                                 
                    12.6  ประพฤติตน หรือกระทำการใดๆ อันอาจนำความเสื่อมเสียมาสู่ชมรมฯ โดยให้ คณะกรรมการ  2  ใน  3  เป็นมติคัดออกจากการเป็นสมาชิก
           ข้อ13.  ให้คณะกรรมการแจ้งรายชื่อสมาชิกผู้ถูกคัดชื่อออกจากชมรมฯ  แจ้งให้แก่สมาชิกทราบภายในกำหนดเวลา  15  วัน  นับแต่วันที่คณะกรรมการได้ลงมติ  
           ข้อ14.  เมื่อสมาชิกได้หมดสภาพของการเป็นสมาชิก  ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องหรือขอสิทธิใดๆ  จากชมรมฯ  ทั้งสิ้น

หมวดที่ 4.  สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก

           ข้อ15.  สมาชิกมีสิทธิจะเสนอความคิดเห็นหรือคำแนะนำใดๆ  ที่เกี่ยวกับกิจการและวัตถุประสงค์ของชมรมฯ  ต่อที่ประชุมได้
           ข้อ16. สมาชิกมีสิทธิเข้าร่วมประชุมสามัญตามที่ชมรมฯ  กำหนด  รวมทั้งการเข้าฟังการประชุมของคณะกรรมการชมรมฯ  ได้  หากมิได้ประกาศห้ามไว้เป็นกรณีพิเศษ
           ข้อ17. สมาชิกมีสิทธิและความรับผิดชอบเท่าเทียมกันในอันที่จะสร้างความเจริญก้าวหน้าของ
ชมรมฯ
            ข้อ18.  สมาชิกมีสิทธินำแขกของตนเข้าร่วมประชุมทุกครั้ง  ที่ทางชมรมฯ  มิได้ประกาศห้ามไว้เป็นกรณีพิเศษ
            ข้อ19.  สมาชิกสามัญและสมาชิกสมทบเพียง  1 ท่านที่ระบุไว้เป็นผู้แทนของนิติบุคคล  มีสิทธิลงคะแนนออกเสียงเลือกตั้ง  และมีสิทธิได้รับการเสนอชื่อเพื่อเลือกตั้งเป็นกรรมการของชมรมฯ  การลงคะแนนออกเสียงนี้จะลงคะแนนออกเสียงได้เพียง  1  คนเท่านั้น  โดยมีหนังสือมอบอำนาจมาเป็นหลักฐานและผู้นั้นจะต้องปรากฎในที่ประชุมนั้นด้วย
           ข้อ20.  สมาชิกสามัญและสมาชิกสมทบ  มีสิทธิที่จะออกเสียง  หรือเสนอความเห็นเกี่ยวกับกิจกรรมของชมรมฯ
           ข้อ21.  สมาชิกมีหน้าที่ต้องชำระค่าบำรุงต่อชมรมฯ
           ข้อ22.  สมาชิกมีหน้าที่รับผิดชอบที่จะต้องปฎิบัติตามระเบียบข้อบังคับและมติของชมรมฯ
อย่างเคร่งครัด
           ข้อ23.  สมาชิกมีสิทธิประดับเครื่องหมายและใช้ตราของชมรมฯ  ได้

หมวดที่ 5.  ค่าบำรุง

          ข้อ 24.  ค่าบำรุง  หมายถึง  เงินที่เก็บจากสมาชิกเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ  ของชมรมฯ
                     24.1  ค่าบำรุงของสมาชิกทุกประเภท  ให้ชำระปีละ  1,000  บาท
                     24.2  สำหรับสมาชิกกิตติมศักดิ์  ได้รับการยกเว้นค่าบำรุง
             ข้อ25.  ค่าบำรุงชมรมฯ  ให้ชำระภายในเดือน  เมษายน  ของแต่ละปีซึ่งครอบคลุมระยะเวลาตามปีปฏิทินมกราคมถึงธันวาคม

หมวดที่  6.  คณะกรรมการ

           ข้อ 26.  ให้มีคณะกรรมการชมรมฯ  โดยให้มีการเลือกตั้งจากสมาชิกสามัญหรือสมาชิกสมทบซึ่งมีสิทธิตามข้อ  19  ที่มาร่วมประชุมใหญ่ในปีที่มีการเลือกตั้ง  จำนวน  10  ท่าน  แล้วให้คณะกรรมการทั้ง  10  ท่าน  ที่ได้รับการเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่  ไปประชุมปรึกษาหารือเพื่อแต่งตั้งหรือเลือกตั้งสมาชิกสามัญหรือสมาชิกสมทบสามัญเข้าเป็นกรรมการเพิ่มเติมอีก  จำนวน  5  ท่าน  การประชุมนี้ให้ประธานชมรมฯ  ผู้ที่จะหมดวาระเป็นประธานในที่ประชุม  และเรียกประชุมภายใน  15  วัน  เมื่อได้กรรมการ  15  ท่านแล้วให้เป็นประธานชมรมฯ  ผู้ที่จะหมดวาระเรียกประชุมกรรมการ  15  ท่าน  ภายใน  15  วัน  เพื่อพิจารณาแต่งตั้งกรรมการดำรงตำแหน่งตามที่ระบุไว้ในข้อ  34.
          ข้อ 27.  บุคคลที่ถูกเลือกตั้งเป็น  “ กรรมการชมรมฯ ”  ต้องเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากสมาชิกนิติบุคคลด้วย
          ข้อ 28.  คณะกรรมการมีหน้าที่บริหารชมรมฯ  และการดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้         
          ข้อ 29.  คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ  เพื่อทำกิจการเฉพาะอย่างอันอยู่ในขอบเขตหน้าที่ภายในการควบคุมของคณะกรรมการได้
               คณะอนุกรรมการจะอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าที่กำหนดเวลา  ตามวาระของคณะกรรมการชุดที่แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ  หรือตามกำหนดเวลาสิ้นสุดของกิจการที่ให้กระทำได้  คณะกรรมการจะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นจากสมาชิกของชมรมฯ  หรือจากบุคคลภายนอกที่มีความเหมาะสมก็ได้
          ข้อ 30.  เมื่อตำแหน่งกรรมการใดว่างลง  ก่อนที่คณะกรรมการจะครบกำหนดตามวาระ  ให้คณะกรรมการได้คัดเลือกสมาชิกสามัญหรือสมาชิกสมทบขึ้นดำรงตำแหน่งแทนได้  และอยู่จนครบวาระของคณะกรรมการ
          ข้อ 31.  กรรมการที่ออกตามวาระ  มีสิทธิได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่ให้กลับเข้ามาเป็นกรรมการได้อีก
          ข้อ 32.  กรรมการต้องออกจากตำแหน่งโดย                         
                    32.1  ออกตามวาระ
                    32.2  พ้นจากสมาชิกภาพ
                    32.3  ลาออกและได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการแล้ว
                    32.4  ที่ประชุมลงมติไม่ไว้วางใจ  ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิก ที่มาประชุม
                    32.5  กรรมการที่ขาดการประชุมสามัญประจำเดือนติดต่อกัน 6 ครั้ง โดยไม่แจ้งให้ชมรมฯ ทราบ
           ข้อ 33.  ในระหว่างที่  ที่ประชุมสามัญประจำปียังมิได้เลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้น  ให้คณะกรรมการเดิมรักษาการแทนต่อไป  จนกว่าคณะกรรมการชุดใหม่จะเข้ามารับการมอบหมายหน้าที่การงานเรียบร้อย
            ข้อ 34.  ตำแหน่งของคณะกรรมการชมรมฯ  จะต้องประกอบด้วยคณะกรรมการมีตำแหน่งต่อไปนี้

  • ประธานชมรมฯ    1  คน        
  • รองประธานชมรมฯ  2  คน 
  • เลขาธิการ   1  คน   
  • เหรัญญิก   1  คน    
  • ประชาสัมพันธ์  1  คน    
  • ปฎิคม    1  คน   
  • นายทะเบียน   1  คน   
  • ประธานกลุ่มงานบุคคลและวิชาการ  1  คน
  • ประธานกลุ่มงานสาธารณูปโภค และความปลอดภัย   1  คน

กรรมการตำแหน่งอื่นๆ  ให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการแต่ละสมัยตามความจำเป็นของการบริหารงาน
          ข้อ 35.  คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
                    35.1  กำหนดนโยบายและวางระเบียบการปฎิบัติงานของชมรมฯ
                    35.2  ออกระเบียบเพื่อให้สมาชิกปฎิบัติ  โดยไม่ขัดต่อระเบียบบังคับของชมรมฯ โดยคะแนนเสียงของคณะกรรมการที่เข้าประชุมไม่น้อยกว่า  2 ใน  3
                    35.3  ดำเนินกิจการของชมรมฯ ให้เป็นไปตามนโยบายและวัตถุประสงค์ของชมรมฯ  ที่ได้วางไว้
                    35.4  จัดให้มีการประชุมอย่างน้อยเดือนละ  1  ครั้ง  โดยให้เลขาธิการ  แจ้งให้ คณะกรรมการทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า  7  วัน  ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นให้เรียก
         ประชุมด่วนได้

หมวดที่ 7  การประชุมใหญ่

             ข้อ  36.  ให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีใน  เดือนมีนาคม  ของทุกปี  โดยแจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า  15  วัน  เพื่อ
                     36.1  เลือกตั้งกรรมการ
                     36.2  รับทราบรายงานประจำปี
                     36.3  รับรองรายงานประชุมประจำปีครั้งที่แล้ว
                     36.4  แสดงผลการดำเนินงานที่คณะกรรมการได้กระทำไปในรอบปี
                     36.5  พิจารณาอนุมัติงบการเงินของชมรมฯ
                     36.6  เรื่องอื่นๆ  ที่เกี่ยวกับกิจการของชมรมฯ  เช่น  ยกเลิก  แก้ไข  หรือ  เพิ่มเติมระเบียบ ข้อบังคับของชมรมฯ  โดยมติ  2  ใน  3  ของสมาชิกที่มาประชุม
             ข้อ 37.  องค์ประชุมของที่ประชุมใหญ่  ต้องประกอบด้วยสมาชิกที่มีสิทธิออกเสียงที่เข้าร่วมการประชุมไม่น้อยกว่า  50  บริษัท การลงมติให้ถือคะแนนเสียง  2  ใน  3  ของสมาชิกที่มาประชุมเป็นเกณฑ์  เว้นแต่ข้อบังคับของชมรมฯ  จะกำหนดเป็นอย่างอื่น
             ข้อ 38.  ในกรณีที่สมาชิกไม่ครบองค์ประชุม  ให้ประธานชมรมฯ  เรียกประชุมครั้งต่อไปภายใน  15  วัน  นับแต่วันประชุมครั้งแรก  และไม่ว่าสมาชิกจะมาประชุมเป็นจำนวนเท่าใดก็ตามถือว่าครบองค์ประชุม

หมวดที่  8.  การเงินและบัญชี

          ข้อ 39.  ให้เหรัญญิกเป็นผู้รับจ่ายเงิน  และบันทึกบัญชีการเงินของชมรมฯ
          ข้อ 40.  เงินของชมรมฯ  ให้ฝากในธนาคารใดธนาคารหนึ่งตามที่คณะกรรมการกำหนด  และมอบอำนาจให้เหรัญญิกและประธาน  เป็นผู้ลงนามสั่งจ่ายเงินในบัญชีของชมรมได้
           ข้อ 41.  คณะกรรมการมีอำนาจใช้เงินของชมรมฯ  ตามวัตถุประสงค์  การเบิกจ่ายทุกครั้งต้องมีประธานและเหรัญญิก  หรือกรรมการอื่นที่คณะกรรมการได้มอบหมายลงนามกำกับในเอกสารที่สั่งจ่ายทุกครั้ง

หมวดที่  9.  การเลิกชมรมและการชำระบัญชี

           ข้อ 42.  ชมรมเลิกได้โดยมติที่ประชุมใหญ่  อันประกอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า  3  ใน  4  ของจำนวนสมาชิกที่เข้าประชุม
           ข้อ 43.  เมื่อเลิกชมรมฯ  แล้ว  บรรดาทรัพย์สินของชมรมฯ  ที่เหลือจากการชำระบัญชีให้ปฎิบัติดังนี้
                       43.1  เงินสดให้เฉลี่ยคืนแก่สมาชิกที่ปรากฏชื่อในทะเบียน
                       43.2  บรรดาสังหาริมทรัพย์ให้มอบแก่องค์กรการกุศล  หรือมูลนิธิ  หรือสถาบันการศึกษา  ตามแต่ที่ประชุมใหญ่จะกำหนด

หมวดที่  10.  เบ็ดเตล็ด

            ข้อ  44.  ในกรณีที่เกิดข้อโต้แย้งในระเบียบข้อบังคับนี้  ให้ถือมติการพิจารณาของคณะกรรมการเป็นข้อยุติ
            ข้อ  45.  ในกรณีที่ไม่ได้ระบุในข้อบังคับนี้  ให้คณะกรรมการบริหารชมรมฯ  ที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้พิจารณา
            ข้อ  46.  ในกรณีที่ในข้อบังคับนี้มิได้ระบุจำนวนเสียงที่ลงมติ  ให้ถือเสียงข้างมากเป็นมติของที่ประชุม

 

 
   
   
   
   
   
   
   
   

 

Google

   
 
4 • ชมรมอุตสาหกรรมบางปู • 3